พันธกิจของเรา
สร้างพื้นที่ปฏิบัติการถักทอ ฟื้นฟูมิตรภาพ ด้วยวัฒนธรรมสันติภาพและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างสันติภาพและความปรองดองที่ยั่งยืนในสังคม
ใช้แนวทางการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง (conflict transformation) เพื่อฟื้นฟูมิตรภาพ สร้างสันติภาพและความปรองดอง (reconciliation process) ในสังคม และใช้แนวคิดจิตวิทยางานกระบวนการ (process-work psychology) และทฤษฎีความจริงสามระดับ เป็นหนึ่งในวิธีวิทยาในการเชื่อมโยง / ค้นหา / ส่งเสริมการสร้างเพื่อนรักและบัดดี้ระหว่างศาสนา ท่ามกลางความแตกต่างทางอัตลักษณ์ในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรง ยืดเยื้อ ในจังหวัดชายแดนใต้
ความรุนแรงชายแดนใต้ที่ปะทุขึ้นใหม่ในปี 2547 สร้างการแบ่งแยกร้าวลึกครั้งใหญ่ระหว่างพุทธ-มุสลิม เมื่อมีพระภิกษุสงฆ์ตกเป็นเป้าสังหาร ส่งผลให้สายใยโอบอุ้มเกลียวสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรมหลักในชายแดนใต้คือ มลายูมุสลิมและไทยพุทธคลายเกลียวความสัมพันธ์ที่เคยแนบแน่น กลายเป็น เปราะบาง สุ่มเสี่ยงจะแยกขาดจากกัน
พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ เริ่มทำงานถักทอความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาร่วมกับผู้นำพุทธ มุสลิม และคริสต์ในพื้นที่ชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2554 โดยกล่าวได้ว่า โครงการเพื่อนรักต่างศาสนาฯ นี้ เป็นผลลัพธ์การปูทางจากคนที่ทำงานในพื้นที่มาก่อนหน้า ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาด สุวรรณบุปผา นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงในด้านการสานสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้พัทธ์ธีราตัดสินใจที่จะมาขอใช้ทุนหลังเรียนจบปริญญาเอกที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นับแต่สำเร็จการศึกษา ในปี 2556 และได้ร่วมกับอาจารย์ปาริชาด ก่อตั้งกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) และร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ศาสนิกสตรีเพื่อสันติภาพ (Women of Faith for Peace)” ในปลายปี 2557 และขับเคลื่อนงานด้านศาสนสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ชื่อแผนงาน “สานเสวนาพระสังฆาธิการ-ผู้นำศาสนาอิสลาม” ก่อนที่ท่านอาจารย์จะจากไปชั่วนิรันดร์
ผศ.ดร.ปาริชาด สุวรรณบุปผา (ขวาสุด) ระหว่างนำกิจกรรมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนาในชายแดนใต้
นอกจากนี้ โครงการเพื่อนรักต่างศาสนายังถือได้ว่าเป็นความสืบเนื่องจากความมุ่งมั่นตั้งใจของท่านพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ นราธิวาส) พระอาจารย์ผู้ที่เป็นทั้งต้นแบบและเพื่อนร่วมงานแข็งขัน ผู้เป็นที่เคารพรักจากทั้งคนพุทธและมุสลิม และน่าเศร้าที่ท่านต้องจากไปในต้นปี 2562 ก่อนวัยอันควรด้วยเหตุการณ์ลอบสังหารที่ไม่ควรจะเกิดแก่ท่าน
อีกท่านหนึ่ง คือ ท่านอิหม่ามยะโกบ หร่ายมณี (อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี) ผู้ซึ่งมุ่งมั่นตั้งใจทำงานร่วมกับคนพุทธในพื้นที่ แม้จะเป็นที่ไม่พอใจของคนมุสลิมหลายกลุ่มก็ตาม พัทธ์ธีราก็เคยได้ช่วยกันทำงานศาสนสัมพันธ์กันมากับท่านตั้งแต่ปี 2553 ก่อนที่ท่านจะถูกลอบสังหารในปี 2556
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์
(เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ นราธิวาส)
อิหม่ามยะโกบ หร่ายมณี
(อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี)
แรงบันดาลใจจากเพื่อนร่วมงานผู้เป็นแบบอย่างเหล่านี้ ทำให้พัทธ์ธีรายังคงมุ่งมั่นและปรารถนาจะสานต่องานในเรื่องการสร้างสันติภาพผ่านมิติทางศาสนาที่เหล่าเพื่อนร่วมงานได้สร้างผลงานปูทางไว้ให้ได้นำมาถักสาน
พัทธ์ธีราจึงเดินหน้าทำงานวิจัยต่อ ในเรื่อง บทบาทผู้นำศาสนากับการสร้างสันติภาพ (พัทธ์ธีรา, 2563) โดยใช้กรอบแนวคิดเรื่อง “เพื่อนรักข้ามศาสนา” และ “สุขภาพสะพานสู่สันติภาพ” ผลการวิจัย พบว่าผู้นำศาสนาเป็นตัวแสดงสำคัญในการยึดเหนี่ยวความกลมเกลียวในสังคมชายแดนใต้ ดังนั้น พัทธ์ธีราจึงได้ขยายงานวิจัยเชิงปฏิบัติการในภาคสนาม เรื่อง เพื่อนรักต่างศาสนา: ผู้นำถักทอสันติภาพและความปรองดองในสังคมไทย ในช่วงปี 2563-2564 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากแผนงาน “นโยบายชี้นำสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล” ร่วมกับชาญชัย ชัยสุขโกศล, กูมูฮำหมัด นูร กูโนะ และชาริต้า ประสิทธิหิมะ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และรองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นที่ปรึกษา
โครงการเพื่อนรักต่างศาสนาใช้มิติทางสุขภาพเป็นแกนกลางเพื่อสร้างพื้นที่ปฏิบัติการถักทอความสัมพันธ์หลังจากที่ความรุนแรงได้สร้างรอยแบ่งแยกร้าวลึกระหว่างผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อให้การฟื้นฟูความสัมพันธ์เข้มแข็งและยั่งยืน สามารถสร้างกลไกเชื่อมประสานความกลมเกลียวทางสังคม (social cohesion) ให้แน่นแฟ้นและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อความยั่งยืน
โครงการฯ มีเป้าหมายขยายเครือข่ายสร้างเพื่อนรักต่างศาสนานักเปลี่ยนแปลงสังคมจากชุมชนฐานรากสู่การสร้างสันติภาพและความเป็นธรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุมมิติการสร้างสันติภาพแบบองค์รวม (holistic approach) บนฐานสันติวัฒนธรรมและการเคารพสิทธิและศักดิศรีความเป็นมนุษย์