INTERFAITH BUDDY for PEACE

ปั่นปันบุญ (อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี)

เมื่อวันที่ 15 – 18 ตุลาคม 2563 โครงการ เพื่อนรักต่างศาสนา: ผู้นำกับการสร้างสันติภาพและความปรองดองในสังคมไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดย อาจารย์ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์หัวหน้าโครงการได้จัดสานเสวนาในพื้นที่ชายแดนใต้

ไฮไลท์ของกิจกรรมในครั้งนี้อยู่ที่การลงพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม “ปั่น ปัน บุญ” ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ซึ่งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาเป็นผู้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2559  และกลุ่มเยาวชนบ้านควนโดยนางกนกพร ชูพันธ์เป็นผู้ประสานหลักในพื้นที่ กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ป่วยติดเตียง ผู้อาวุโสติดบ้าน สืบสานวัฒนธรรมทอดกฐินของชาวพุทธ และเยี่ยมชมมัสยิดของพี่น้องมุสลิมในอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ 07.00 น.เช้าตรู่ของวันที่ 17 ตุลาคม จนถึง 18.00 น.

อำเภอปะนาเระนั้นถูกป้ายว่าเป็นพื้นที่สีแดง หมายถึง มีความรุนแรงระดับสูงและเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นหมุดหมายของความรุนแรงระลอกปี 2547 ที่ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรม คือ พุทธ-มุสลิม แยกห่างจากกัน แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 เป็นสักขีพยานว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรมกำลังได้รับการถักสานฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ 

โต๊ะอิหม่ามในพื้นที่บอกว่า “รู้สึกเป็นเกียรติมาก ๆ ที่ได้ต้อนรับพระ และก็พระผู้หญิง และก็ทุกๆ คน ด้วยความตื่นเต้นดีใจพูดไม่ถูก มัสยิดของเราเล็ก ๆ เท่านั้นและไม่มีสถานที่หรูหราสำหรับต้อนรับ” 

ส่วนชาวพุทธที่เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนว่า “รู้สึกมีความหวังมากขึ้นที่ภาพความสัมพันธ์ดี ๆ ในอดีตกำลังจะคืนกลับมาที่บ้านของเรา”

ตลอดเส้นทาง “ปั่น ปัน บุญ” นอกจากการแวะเยี่ยมเยียนผู้ป่วย และผู้สูงอายุแล้ว ยังได้เข้าร่วมทำบุญกฐินตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่รายทาง ซึ่งในอำเภอปะนาเระนั้นมีวัดเก่าแก่ถึง 16 วัด แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องเวลา คณะฯ จึงได้เข้าร่วมทำบุญกฐิน 6 วัด ขณะเดียวกันก็ได้แวะเยี่ยมมัสยิด 2 แห่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

จุดสุดท้ายของ กิจกรรมในครั้งนี้คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมวัดเทพนิมิต ซึ่งมีพระเรวัต เป็นเจ้าอาวาสผู้มีความสามารถในการเชื่อมต่อสายสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมเป็นอย่างดียิ่ง พระเรวัติเป็นพระที่ชาวมุสลิมในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือและเรียกว่าอย่างให้เกียรติว่า “โต๊ะ” ด้วยท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษามลายูถิ่นได้เป็นอย่างดียิ่งไม่มีผิดเพี้ยน และเป็นผู้ที่มีความเมตตาสูง ดังนั้น ในวัดของท่านจึงมีมุสลิมแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย

สำหรับกิจกรรมการสานเสวนาเพื่อถอดบทเรียนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนผ่านกิจกรรมฟื้นฟูความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการก้าวข้ามร่องรอยประวัติศาสตร์บาดแผลอันเกิดจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 16 ปี และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เคยดีต่อกันนั้นห่างเหินและไม่ไปมาหาสู่กันดั่งที่เคยเป็นมาในอดีตในวันต่อมา ซึ่งจัดขึ้นในห้องประชุม ฟาฏอนี โรงแรมซีเอส ปัตตานี ด้วยกระบวนการ Process Work นั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างประทับใจและอยากให้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

ผู้นำศาสนาอิสลามตำแหน่งกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทยและรองประธานกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส นายอับดุลอาซิส เจ๊ะมามะ กล่าวว่า “เป็นโครงการที่ดีมาก ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่อาจารย์มาจัดกิจกรรมนี้และต้องขอบคุณมหาวิทยาลัย-มหิดลด้วย ที่ให้อาจารย์มาทำงาน” ในขณะที่ พระภิกษุสงฆ์ที่เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนว่า “ตั้งแต่เข้าร่วมงานกับมหิดลมาหลายครั้ง ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ประทับใจมากที่สุด และอยากให้ทำต่อไป” 

   ขณะที่ผู้เข้าร่วมท่านอื่น ๆ สะท้อนว่า “ประทับใจมาก เป็นแนวทางสันติภาพและความโอบอ้อมอารีที่ชัดเจน เห็นความทุ่มเทแรงกายแรงใจและความอ่อนน้อมถ่อมตนและขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดลที่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนโครงการนี้

หมายเหตุ : คัดลอกเนื้อหามาจากส่วนหนึ่งของ หนังสือโครงการเพื่อนรักต่างศาสนา: ผู้นำการขับเคลื่อนถักทอสันติภาพและการปรองดองในสังคมไทย”, โดย พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ (2564) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

Scroll to Top