INTERFAITH BUDDY for PEACE

ที่ปรึกษา

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (ชายแดนใต้)


คำเตือน
: การปรองดองเป็นเรื่องยากยิ่ง ด้วยหลายเหตุผล ที่สำคัญประการหนึ่ง น่าจะอยู่ที่ต้องพยายาม เข้าใจให้ได้ว่า ทั้งการปรองดองและตนเองอยู่ตรงไหนในแผนที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ นอกจากคนที่พยายามสร้างการปรองดองต้องตั้งคำถามว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่พยายามเข้าไปแก้ไขหรือไม่อย่างไรแล้ว ยังต้องเข้าใจด้วยว่า เราอาจบังคับให้คนที่ไม่ถูกกันมาอยู่ในที่เดียวกันได้ กระทั่งกำหนดให้มีการลงนามในสนธิสัญญาบางประเภทได้ เช่นสหรัฐอเมริกาใช้อำนาจที่เหนือกว่าของตัวบีบให้ประเทศที่ขัดแย้งกันอย่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มาเจรจากัน จนบรรลุข้อตกลง (agreement) ได้ 

แต่ความพิสดารของการปรองดองประการหนึ่งคือ ข้อตกลงที่ได้มาเช่นนี้ไม่ใช่การปรองดอง เพราะการปรองดองบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุผลที่บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ก็เพราะ การปรองดองเป็นกระบวนการ คำว่า “process” ในอารยธรรมฝรั่งเศสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 หมายถึง การเดินทาง และทุกการเดินทางมีทั้งเป้าหมาย มีวิธีการเดินทาง มีอุปสรรค และ มีระยะเวลา [ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “ร่องรอยความปรองดองใต้เงาความขัดแย้ง,” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 36 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2558), น 63-80] 

John Paul Lederach เคยตั้งคำถามไว้ใน The Moral Imagination (Oxford University Press, 2005) ว่า “ก็ถ้าการปรองดองไม่ใช่ทางสายตรงตามสูตรของการสะสมกิจกรรมต่างๆที่มุ่งก่อให้เกิดผล แต่เป็นดังกระบวนการทางศิลปะที่สร้างสรรค์เล่าจะเป็นอย่างไร?” (p. 159) จะเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ แต่ที่ตอบได้คือยากยิ่งแน่ [อ่านต่อ…]

รศ.ดร.โคทม อารียา

ที่ปรึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล


ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรง การคลี่คลายความขัดแย้งย่อมต้องใช้วิธีการต่าง ๆ ทั้งด้านความมั่นคง ด้านการเมือง ด้านสังคมวัฒนธรรม

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มิติสำคัญมิติหนึ่งของความขัดแย้ง คือความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ชื่นชม วัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างออกไป เรากล่าวถึงแนวคิดพหุวัฒนธรรมด้วยเชื่อว่าจะเป็นคาถาสำคัญของการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น คือหวังให้คนต่างวัฒนธรรมอยู่เคียงข้างกันอย่างสันติ แต่เราควรก้าวไปไกลกว่านั้น ให้ไปถึงการชื่นชมความแตกต่างด้วย ทั้งนี้ โดยอาศัยการมีเพื่อนต่างวัฒนธรรมนั่นเอง เพราะเพื่อนหมายถึงคนที่เราพร้อมจะช่วยเหลือ ปกป้องเพื่อนในยามที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ในยามที่เดือดร้อน มีทุกข์ ฯลฯ และพร้อมที่จะแบ่งปันความสุขระหว่างกันด้วย

โครงการเพื่อนรักต่างศาสนา จึงมุ่งสร้างมิตรภาพเพื่อสันติภาพที่หยุ่นตัว (resilient) โดยการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยปัจจัยด้านสังคมวัฒนธรรม แปลงความขุ่นข้องหมองใจให้เป้นความรักความกรุณาที่เปิดกว้าง

พาตีเมาะ สะดียามู

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

ด้วยพระนามของอัลลอฮ ผู้ทรงความเมตตา ความกรุณาปรานี

โครงการเพื่อนรักต่างศาสนา เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมๆ กับสถานการณ์ความรุนแรง และเป็นหนึ่งโครงการที่เล็งเห็นถึงผลกระทบของความขัดแย้ง ผลของความรุนแรง นำมาซึ่งบริบทหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการสร้างความไว้วางใจ ณ ปัจจุบัน

การต่อเนื่องของโครงการจะนำสันติภาพอย่างยั่งยืน โดยหลักจะมุ่งสู่ระดับชุมชน ที่มีองค์ประกอบคือผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ทั้งผู้นำศาสนา สตรี เด็ก ครู ชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้หลอมเป็นเครือข่ายเพื่อนรักต่างศาสนา มุ่งสู่ความยั่งยืนโดยนำหลักศาสนธรรม โดยเฉพาะพี่น้องพุทธ อิสลาม ที่นำศักยภาพฐานรากของชุมชนเพื่อเป็นปัจจัยเอื้อและสนับสนุนที่จะสร้างและถักทอสันติภาพอย่างยั่ยงยืนสู่ชุมชน สังคม

ในมุมมองการทำงานเพื่อนรักต่างศาสนา ถือว่าได้ดำเนินการมาถึงจุดที่นำพาเครือข่ายมุ่งสู่ฐานรากของชุมชนแล้ว สร้างการพัฒนาของคน ในเรื่องมุมมอง ทัศนคติของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายในสังคม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวก้อจะดำเนินต่อไป ตัวผู้ว่าฯเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ที่ร่วมขับเคลื่อน ร่วมหนุนเสริม จากจุดเล็กๆ ที่เราคุยกันสู่การขยายสู่เครือข่ายที่กว้างขึ้น ต้องขอขอบคุณและเป็นกำลังใจในโครงการนี้ เพื่อเป็นโครงการที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

รศ.ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์

รองอธิการบดีฝ่ายแผน พัฒนาคุณภาพ และบริการวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหิดล

หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติคือ การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการเพื่อนรักต่างศาสนากับการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนจากชุมชนฐานราก ซึ่งต่อเนื่องมาจากโครงการเพื่อนรักต่างศาสนา: ผู้นำกับการถักทอสันติภาพและความปรองดองในสังคมไทย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ และคณะ ได้ใช้การสานเสวนาเรื่องสุขภาพเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจและปรองดอง นำมาสู่สันติภาพในสังคมที่มีความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวอย่างของการนำงานวิจัยและวิชาการของมหาวิทยาลัยไปสู่การสร้างประโยชน์ให้สังคม ด้วยความมุ่งมั่นของทีมงานทำให้ได้ข้อค้นพบที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาสังคมที่มีความแตกแยกร้าวลึก โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันค้นหาความจริงด้วยความเมตตาและเข้าอกเข้าใจอีกฝ่าย สร้างบรรยากาศที่จะเอื้อให้เกิดการปรองดอง และขยายเครือข่ายที่พร้อมจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ข้อเสนอเชิงนโยบายจากโครงการนี้ทำให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจถึงสภาพสังคมที่ขัดแย้งร้าวลึกรวมถึงวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสังคมไทยในปัจจุบันต่อไป

พระครูสุนทรธรรมนิเทศก์,ดร.

ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดชนาธิปเฉลิม (พระอารามหลวง)


เป็นความประทับใจที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจกับเพื่อนพี่น้องต่างศาสนิก เพื่อนการอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี นำให้เกิดสันติสุขให้ทุกคนที่เป็นเพื่อนร่วมโลกใบเดียวกัน

Scroll to Top