เพื่อนรักยุโป
เรื่องของเพื่อนรัก อสม. ในยุโป
“ยุโป” หรือ “ฆูโป” ในอดีตตําบลยุโปมีราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่ประมาณ 50 ครัวเรือน มีต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นฆูโป” เป็นภาษามลายูถิ่น จึงเรียกชื่อบ้านฆูโปเรื่อยมา ต่อมามีชาวบ้านที่นับถือพุทธเข้ามาอาศัยมากขึ้น ได้เรียก “บ้านฆูโป” เพี้ยนตามสําเนียงใหม่ว่า “บ้านยุโป” หรือตําบลยุโป แปลเป็นภาษาไทยว่า “ต้นมะไฟ”
ด้านการเมืองการปกครอง ตําบลยุโปพัฒนาจากที่เป็นเพียงสภาตําบลยุโป ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตําบลยุโป ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 เดือนมกราคม พ.ศ. 2539 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่มที่ 113 ตอนที่ 9 ง ลงวันที่ 30 มกราคม 2539 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2539 และปี 2555 ได้รับการประกาศจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบลยุโป เป็นเทศบาลตําบลยุโป ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 (ศรีประไพ อุดมละมุล และคณะ, 2558: 39)
พื้นที่ยุโป แม้อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองยะลามากนัก แต่ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ปี พ.ศ. 2547 การก่อเหตุในเขตเมืองกลายเป็นยุทธศาสตร์หลักนับตั้งแต่การทำลายย่านเศรษฐกิจการค้าภายในตัวเมือง และชุมชนรอบ ๆ เมืองซึ่งยุโปเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยครั้ง ปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ถือว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงน้อยที่สุด แต่เมืองยะลาติดอันดับที่ 4 ใน 10 อำเภอของทั้งสามจังหวัดและสี่อำเภอที่มีการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากสุด (สุภาภรณ์ พนัสนาชี และคณะ, 2557)
ปี พ.ศ. 2563 พื้นที่ยุโปยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการก่อเหตุความไม่สงบอยู่ เช่นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เวลา 06.00 น. พ.ต.อ.นราวี บินแวอารง ผกก.สภ.เมือง จ.ยะลา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าในพื้นมีเหตุก่อกวน โดยการพ่นสีแขวนป้ายผ้าและวางวัตถุต้องสงสัย รวมถึงเอาถุงคลุมกล้องวงจรปิด บริเวณใกล้วงเวียนบ้านบ่อเจ็ดลูก หมู่ที่ 6 ต.ยุโป อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และในพื้นที่บ้านสาคอ หมู่ที่ 4 ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งพบว่ามีการพ่นสีสเปรย์สีแดงบนป้ายบอกทางเขียนเป็นภาษารูมี มีข้อความว่า “PATANI” และแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความเขียนว่า “PATANI MERDEKA” (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 27 พฤศจิกายน 2563)
ด้วยบริบทของสถานการณ์ในพื้นที่ยุโปที่กล่าวมา ไม่แปลกใจนักว่าเหตุใดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนจึงขาดหายไป กระทั่งคณะทำงานเข้าพื้นที่ไปสำรวจรอบแรกโดยอาศัยการนำพาของเครือข่าย อสม. สตรีพุทธ คุณนาฎนภางค์ คล้ายนิมิตร สมาชิกกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส) เพื่อแนะนำโครงการและค้นหาเพื่อนรักต่างศาสนามาร่วมทำงานขับเคลื่อนถักทอฟื้นฟูความสัมพันธ์ จึงได้ทราบเรื่องราวที่ดีงามซ่อนอยู่ใต้หมอกควันแห่งความหวาดกลัว
เนื้อดินที่ปลูกฝังมิตรภาพให้หยั่งรากลึก
“ที่ (ดิน) นี่เป็นที่อิสลาม เขายกให้แล้วเขาก็ย้ายไปที่อื่น”
พระครูนันทนาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดยุปาราม (ยุโป) เล่าให้พวกเราชาวคณะเพื่อนรักต่างศาสนาฯ อสม. ทั้งพุทธ – มุสลิมที่ล้อมวงกันตรงศาลาอเนกประสงค์ของวัดยามสายของวันที่ 12 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นเวลาสะดวกของชุมชนที่ประกอบอาชีพทำสวนยาง หลังจากตัด(กรีด) เก็บน้ำยางแล้ว จึงมารวมตัวกันตามที่เรานัดหมาย
พระอาจารย์เล่าประวัติความสัมพันธ์ระหว่างพุทธกับมุสลิมตั้งแต่เรื่องการสร้างวัดเลยว่า
เดิมทีบริเวณนี้เป็นป่าทั้งหมด วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อื่น ไม่ใช่ตำแหน่งที่วัดตั้งอยู่ปัจจุบัน มีพื้นที่กว่า 5 ไร่ ทำให้ไม่สามารถขอยกสถานะเป็นวัดได้ เพราะมีที่ไม่ถึง 6 ไร่ คนมุสลิมบอกว่ายังมีที่ดินว่างขนาดใหญ่อยู่อีกหลายแห่ง ครั้นพอมีคนพุทธในพื้นที่จำนวนมากขึ้น คนมุสลิมจึงยกที่ดินแห่งใหม่ให้สำหรับใช้เป็นที่สร้างวัด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2382 วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้ว โดยมุสลิมยกที่ดินให้สร้างวัด
พระครูนันทนาภิวัฒน์กล่าวสรุปตอนท้ายในวงสานเสวนาว่า “ที่นี่เป็นที่ของอิสลาม เขายกให้ แล้วเขาก็ย้ายไปที่อื่น” (12 กันยายน 2563)
กล่าวได้ว่า ชุมชนอุดมมิตรภาพแห่งนี้ได้ปลูกต้นไม้แห่งความสัมพันธ์ลงบนเนื้อดินดีที่เพื่อนมุสลิมได้มอบให้กับเพื่อนชาวพุทธตั้งแต่นั้นมา แม้ช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในภายหลังจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสองวัฒนธรรมห่างเหินกันไปบ้าง แต่มิได้ขาดจากกัน นั่นอาจจะเป็นเพราะรากของต้นความสัมพันธ์ได้หยั่งรากลึกในผืนดินผืนนั้น
วงสานเสวนาในวัดยุปาราม ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา
“ยา(ใจ)” บำรุงรักษาความสัมพันธ์พุทธ – มุสลิม
นอกจากน้ำใจอันยิ่งใหญ่ที่ชาวมุสลิมยกที่ดินให้สร้างวัดจะเป็น “บ่อน้ำ” ที่หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์พุทธ – มุสลิมในยุโปแล้ว ยังพบอีกว่า “ยา” และ “การรักษาสุขภาพ” ของเจ้าอาวาสวัดยังทำหน้าที่บำรุงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพุทธ – มุสลิมในละแวกนี้มาเป็นเวลาช้านาน เป็นเสมือนการตอบแทนความมีน้ำใจดีของชาวมุสลิมไปในที
“ยา” ที่พระเจ้าอาวาสเป็นผู้ปรุงขึ้นมาเพื่อจะรักษาสุขภาพและอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านทั้งพุทธ – มุสลิมละแวกนั้น เป็นยาที่ได้รับการยอมรับกันว่ามีสรรพคุณดี รักษาอาการเจ็บป่วยหายได้จริง
อสม.มุสลิมเล่าให้ฟังว่า เจ้าอาวาสเป็นผู้มี ภูมิปัญญา โบราณในการปรุงยาสมุนไพรและการรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคริดสีดวงทวาร โรคงูสวัด ฯลฯ
หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า
เคยไปประกวดชนะมาแล้วด้วย แต่ภายหลังเมื่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบเรื่อง จึงเข้ามาห้าม ไม่ให้ทำ และถ้าจะทำต้องตั้งโรงงาน มีการจดทะเบียนมาตรฐานควบคุมยาอย่างเป็นกิจลักษณะ เรื่องมันจะยุ่ง หลวงพ่อจึงเลิก แต่ไม่อยากป่าวประกาศให้ใครรู้อย่างกว้างขวางมากเกินไป แต่หลวงพ่อยังคงช่วยรักษาผู้ที่ต้องการ
คิดแบบช่วยโยมที่ใกล้ตาย นอนแข็งมาเลย มาหาอาตมาตอนสามทุ่ม จากปัตตานี อาตมาให้กิน (ยาปรุง) 1 แก้วยังเฉย อีก 5 นาทีต่อมา (คนที่นอนแข็งคนนั้น) ขอบุหรี่ แล้วพอตีสองก็กลับบ้านได้ (พระครูนันทาภิวัฒน์, 12 กันยายน 2563)
ท่านพระครูฯ เป็นพระที่ให้การรักษากับทั้งคนพุทธและมุสลิม โดยไม่เลือกปฏิบัติ ท่านเล่าว่า “ชาวมุสลิมเอง เมื่อมีปัญหาสุขภาพอะไรก็มาที่วัดเพื่อขอสมุนไพรจากหลวงพ่อไปรักษาโรคอยู่เป็นประจำ”
มีกรณีหนึ่ง หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า เป็นอดีตนายก (อบต.) ซึ่งเป็นมุสลิม อยู่หมู่ 2 เคยมาปรึกษาหลวงพ่อว่าจะทำอย่างไรดีเพราะ “ผีเข้าทั้งบ้าน” และ “พาน้ำมาด้วยขวดหนึ่ง” เพื่อให้หลวงพ่อช่วยปลุกเสกน้ำมนต์สำหรับปัดเป่าผีออกไปจากบ้านของอดีตนายกฯ ท่านนั้น เรื่องเล่านี้ยังคงได้รับการเล่าขานต่อ ๆ กันอยู่ในปัจจุบัน
24 กุมภาพันธ์ 2564 ห้องประชุมสำนักงานเทศบาล ตำบลยุโป อ.เมือง จ.ยะลา เปิดต้อนรับผู้วิจัยและทีมงานเข้าพื้นที่อย่างเป็นทางการ หลังจากแนะนำโครงการ แจ้งที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการ วงสานเสวนาเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนความห่วงใยเรื่องการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid-19 ในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะประเด็นการ “ฉีดวัคซีน” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคอะไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเป็นงานหินที่ท้าทายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเสมอ ทั้งนี้เพราะมุสลิมในพื้นที่มีความเชื่อผสมผสานระหว่างความเชื่อศาสนาอิสลามและความเชื่อในภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น และยังมีความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้องเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ตลอดจนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการและส่วนผสมที่อยู่ในวัคซีนว่าผลิตขึ้นมาถูกต้องตามหลักการศาสนา (ฮาลาล) หรือไม่
ในพื้นที่ยุโปก็เช่นกัน งานหนักจึงตกที่ อสม. ในฐานะบุคลากรด่านหน้าทำหน้าที่เสมือนเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจและเชิญชวนให้ผู้คนมารับวัคซีน แต่เมื่อการเชิญชวนรับวัคซีนยังไม่ได้ผล ประกอบกับในช่วงแรกวัคซีนยังไม่มาถึงพื้นที่ งานควบคุมจำกัดการแพร่ระบาดจึงต้องทำด้วยวิธีอื่น เช่น การปิดทางเข้าออกหมู่บ้าน เป็นต้น เพื่อยืนยันข้อมูลข่าวสารที่ได้ยินมา ผู้วิจัยจึงถามถึงมาตรการเฝ้าระวังว่ามีการปิดหมู่บ้านเหมือนที่เห็นเป็นข่าวหรือไม่
สิ้นเสียงถาม เสียงหัวเราะดังขึ้นราวกับรู้กันว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น พร้อมกับเสียงของผู้ใหญ่บ้านชาวพุทธว่า “โดนด่ากันไปสิครับ” แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องเล่าการทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อนในชุมชนสองวัฒนธรรม คือ พุทธ – มุสลิม ในด้านการเฝ้าระวังควบคุมโรคและนำความช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปส่งให้ถึงมือผู้ที่อยู่ในข่ายเสี่ยงต้องกักตัว
ปิดหมู่บ้านตรวจคัดกรองกันจริงจังมาก
ในหมู่ที่ 1 ไม่มีคนที่กลับมาจากมาเลเซีย มีการเฝ้าระวังเช่นกันแต่ไม่เคร่งครัดมากนัก ส่วนหมู่ที่ 2 บ้านทุ่งเหรียงมีผู้ที่กลับจากมาเลเซีย หมู่ 3 บ้านบาโดมีผู้ที่กลับจากมาเลเซีย ซึ่งทางตำบลเราจัดให้มีพื้นที่กักตัวคือ โรงเรียนคณะราษฎร์ สำหรับหมู่ 1 บ้านยุโป มีผู้ที่กลับมาจากจังหวัดภูเก็ต จึงกักตัวที่บ้าน เพราะในหมู่ในตำบลยุโปเรามีการปูพรม หมายถึงเรามีการตั้งด่านอย่างรัดกุมทั้งตำบลและหมู่บ้าน เช่น ตั้งด่านตรวจเช็คการเข้า – ออกหมู่บ้าน และคนที่มาจากต่างจังหวัดต่างพื้นที่ เราจะมี อสม. คอยประกบอยู่ โดยแบ่งโซนกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตั้งด่านทุกหมู่บ้านปิดล็อกหมด ให้เข้าออกหมู่บ้านได้ทางเดียว ซึ่งเราก็โดนตำหนิจากผู้ใช้เส้นทางในตำบลยุโป แต่ทั้งนี้มาตรการนี้ทำให้ในตำบลยุโปไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ครับ (ผู้ใหญ่บ้านชาวพุทธ, 24 กุมภาพันธ์ 2564)
อสม. พุทธรีบเสริมขึ้นว่า
สำหรับผู้ที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง เราจะให้กำลังใจ คอยดูแลเขา สร้างความเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องมีการกักตัว 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของผู้กลับจากพื้นที่เสี่ยงและคนในหมู่บ้าน
อสม. ไปพบผู้คนทุกบ้านเพื่อสอนการเฝ้าระวัง เช่น การล้างมือบ่อย ๆ การสวมใส่หน้ากากอนามัย สำหรับคนที่กลับจากมาเลเซีย เราจะพบเขาทุกวันเพื่อวัดอุณหภูมิตรวจร่างกายรวมถึงสอนมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับโควิด-19 เราไม่ได้กลัวหรือวาดระแวงคนเหล่านั้น เพราะทำตามมาตรการความปลอดภัย อีกทั้งเรายังให้กำลังใจและช่วยเหลือเผื่อแผ่ เช่น ซื้ออาหารแล้วไปแขวนหน้าบ้านของคนที่กักตัว เพราะเราไม่สามารถสัมผัสเขาได้ (อสม.พุทธ, 24 กุมภาพันธ์ 2564)
อิหม่ามที่เข้าร่วมวงสานเสวนากล่าวอย่างภาคภูมิใจด้วยสำเนียงภาษาไทยที่ไม่ค่อยชัด แต่จับใจความได้ชัดเจนว่า
จากการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของเรา หมู่ 1 บ้านยุโปเกี่ยวกับการจัดการโควิด-19 ที่เราพี่น้องพุทธ – มุสลิมได้ร่วมมือกัน สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ภูมิใจมาก คือ คนมุสลิมไม่ค่อยมีสวนยางกันเท่าไรนัก ส่วนใหญ่สวนยางในตำบลยุโปจะเป็นของคนไทยพุทธ อาชีพหลักของคนยุโปส่วนใหญ่จะเป็นการตัดยาง กรีดยาง พอโควิดมาคนมุสลิมตกงาน คนไทยพุทธในตำบลยุโปจึงเปิดโอกาสให้เป็นคนตัดยาง (กรีดยาง) ซึ่งรู้สึกภูมิใจอย่างมาก เพราะโดยส่วนตัว ตนเองและญาติพี่น้องไม่ค่อยมีสวนยางเท่าไหร่
เมื่อเราไปขอป้า (คนไทยพุทธ) ว่ามีสวนยางให้ผมกรีดยาง ปลูกยางบ้าง ท่านก็ให้ โดยเรามีการแบ่งผลกำไรจากยางดังกล่าว และเวลาไปขายน้ำยาง เถ้าแก่ที่รับซื้อก็เป็นไทยพุทธด้วยเช่นกัน เหล่านี้จึงเป็นความภูมิใจของผมมาก ตอนนี้ความสัมพันธ์ของเราจึงดียิ่งขึ้น (อิหม่าม, 24 กุมภาพันธ์ 2564)
ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมรีบเสริมขึ้นบ้างว่า
จากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้คนตกงานนั้น บางส่วนผมก็ภูมิใจ เนื่องจากได้ลงไปสำรวจพื้นที่โดยเฉพาะบ้านคลองท้อน หรือ คนในหมู่ 2 บ้านทุ่งเหรียง มากรีดยางในหมู่ 1 และอีกประเด็นหนึ่ง คือ หมู่ 1 ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของพี่น้องมุสลิมมาก่อน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่หมู่ 2 และคนที่เคยอยู่หมู่ 2 ได้ย้ายมาอยู่พื้นที่ดังกล่าว ด้วยมีที่นาจำนวนมาก มุสลิมที่เคยอยู่ที่ตรงนั้นมาก่อนได้กลับมาทำนาบนที่ดินเดิมดังกล่าว ทำให้ต่างก็มีความสุข (ผู้ใหญ่บ้านชาวพุทธ, 24 กุมภาพันธ์ 2564)
อิหม่ามเสริมขึ้นต่อว่า “ดังนั้นความหวาดระแวงของคนในยุโปเราตอนนี้ไม่มีอยู่แล้ว ตอนนี้เวลาตี 1 ตี 2 คนสามารถออกไปตัดยางได้อย่างสบายใจ” เมื่อก่อนนี้ “ไม่ได้ ไม่ปลอดภัย” (อิหม่าม, 24 กุมภาพันธ์ 2564)
สะพานดำ : พื้นที่ความทรงจำร่วม
ย้อนกลับไปในอดีตอันเป็นที่มาและรากฐานของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของชาวยุโปก่อนที่จะมีความรุนแรงถึงตายเข้ามาบ่อนทำลายสายสัมพันธ์พุทธ – มุสลิมในพื้นที่ยุโป [1] สมัยที่การคมนาคมหลักเพื่อเข้าสู่ยะลาอาศัยรถไฟซึ่งตัดผ่านพื้นที่ยุโปก่อนจะเข้าสู่ยะลา และเป็นเส้นทางที่เป็นพื้นที่ความทรงจำร่วมของเพื่อนรักต่างศาสนามาตั้งแต่วัยเยาว์ หลายคนเป็นเพื่อนผูกพันกันมาเพราะใช้เส้นทางรถไฟและใช้ “สะพานดำ” ซึ่งคับแคบ ต้องใช้ความสามารถพิเศษในการทรงตัวเมื่อมีคนอื่นเดินสวนทางมา หรือโดยเฉพาะเมื่อเวลารถไฟผ่านมา
เมื่อพูดถึง “สะพานดำ” เสียงหัวเราะและแววตาสดใสก็เปล่งประกาย ตามมาด้วยการแย่งชิงกันบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำ และเริ่มถามกันแซวกันว่า “ใครเกิดทันบ้าง” “อายุเท่าไรกันแล้ว” “เริ่มเข้าสู่วัยคนเฒ่าเล่าความหลัง”
อสม. พุทธคนแรกเปิดประเด็นเล่าเรื่องสะพานดำในสมัยอดีตรวมถึงความเป็นไปของตำบลยุโปว่า
สมัยที่เรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ต้องเดินเท้าไปโรงเรียน สมัยนั้นไม่มีรถ เดินจากยุโปถึงโรงเรียนประมาณ 3 กิโลเมตร ระหว่างเดินทางมีหมู่บ้านของมุสลิมคือหมู่บ้านบาโด อีกทั้งสมัยก่อนจะมีกลุ่มวัยรุ่นที่แตกต่างกับสมัยนี้คือ วัยรุ่นสมัยก่อนไม่อันตรายเท่าสมัยนี้ [2]
สำหรับคนที่มีฐานะหน่อยจะขี่จักรยานในการเดินทาง ข้ามสะพานดำซึ่งทอดข้ามแม่น้ำเข้าเมืองยะลา สะพานดำนั้นคือทางรถไฟข้ามแม่น้ำ มีช่องทางสำหรับเดินเท้าและจักรยาน ความกว้างของช่องทางประมาณ 1.5 เมตร คนสมัยก่อนต้องเป็นคนมีฝีมือเท่านั้นจึงจะสามารถขี่รถมอเตอร์ไซด์หรือจักรยานสวนทางกันได้ และไม่เพียงแต่พวกเรา สมัยก่อนมีคนจีนที่ใช้เส้นทางดังกล่าวสัญจรเช่นเดียวกัน [3]
ผู้ใหญ่บ้านยุโป อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า
สะพานดำ ที่เรียกเช่นนั้นเพราะสะพานเหล็กที่มีสีดำ แต่ในสมัยก่อนนั้นเป็นสะพานไม้ มีทางเบี่ยงไว้สำหรับเดินข้ามเข้าไปในเมืองยะลา โดยเฉพาะไปตลาดสดรถไฟ (ตลาดวิมลชัย) สะพานดังกล่าวอยู่ในเขตหมู่บ้านบาโด ดังนั้นผู้คนในหมู่บ้านใกล้เคียงจึงใช้เส้นทางนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเส้นทางที่ตัดเข้าเมืองยะลาที่ใกล้ที่สุด หากจะไปอีกเส้นทางหนึ่ง ต้องไปทางสะพานตำบลท่าสาปเก่า เข้าตำบลสะเตง แล้วจึงมาในเมืองยะลาได้ แต่เส้นทางย่อมไกลกว่าเส้นทางสะพานดำ
สมัยก่อนมีอันตรายมากกว่าสมัยปัจจุบัน ผู้คนจึงต้องใช้ความสามารถและความระมัดระวังอย่างมากในการสัญจร เวลาไปโรงเรียน ช่วงเช้าจะปั่นจักรยาน แต่ถ้าช่วงน้ำท่วมสัญจรไปมาไม่ได้ จึงต้องเดินเท้าไปทางรถไฟ ระยะทาง 3 กิโลเมตรเพื่อจะไปเรียนโรงเรียนในเมือง ออกเดินเท้าตั้งแต่ 06:00 น ก็ต้องตื่นแต่เช้า
การเดินดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า การเดินนับไม้หมอนเพราะระหว่างที่เดินอยู่นั้น จะนับไม้หมอนที่ตกอยู่บริเวณข้างทางไปด้วย
แล้วทั้ง 4 หมู่บ้าน จะสัญจรทางสะพานดำทั้งหมด คือ หมู่บ้านตาเซะ บ้านยุโป บ้านทุ่งเหรียง และบ้านบาโด
——
[1] ยุโป ถือเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการก่อเหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้ง ส่งผลต่อการสูญเสียชีวิตของทั้งชาวพุทธและมุสลิมหลายคน จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธ – มุสลิมห่างหายไปพักใหญ่ ก่อนที่จะรื้อฟื้นกลับคืนมาในช่วงหลังแต่ก็ยังไม่เหมือนเดิม ปัจจุบันจำนวนคนพุทธลดน้อยลง ไม่ค่อยมีพื้นที่และโอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกันมากนัก จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบของตำบลยุโปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยแยกตามศาสนา ผู้ใหญ่บ้านให้ข้อมูลว่า ยุโปมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทั้งหมด 17 คน เป็นชาวมุสลิม 1 คน และอีก 16 คนเป็นคนไทยพุทธ ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดภายในหมู่บ้านยุโปมีเพียงสองเหตุการณ์ คือคลองท้อน ส่วนเหตุการณ์ที่เหลือเกิดขึ้นที่รอยต่อระหว่างหมู่บ้านยุโป (พัทธ์ธีรา และคณะ, 2564: 33)
[2] ผู้พูดอธิบายต่อว่าวัยรุ่นสมัยก่อนไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด และผลพวงจากการเสพติดยาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมความรุนแรงตามมา
[3] ข้อมูลทางประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมยะลาหลายชิ้นแสดงหลักฐานการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ยะลาของคนจีนจำนวนมาก จุดใหญ่ที่คนจีนปักหลักค้าขายได้แก่ อ.เมืองยะลา และ อ.เบตง และกระจัดกระจายทำอาชีพเกษตรกรรมไปตามอำเภอต่าง ๆ รวมทั้งในจังหวัดข้างเคียงด้วย
เอกสารอ้างอิง
ศรีประไพ อุดมละมุล และคณะ. (2558). โครงการรวบรวมภูมิปัญญาของตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา. ยะลา: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.
สุภาภรณ์ พนัสนาชี และคณะ. (2557) รายงาน DSID – สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2557: ปีที่มีจำนวนเหตุการณ์น้อยที่สุดในรอบ 11 ปี โดย Deep South Incident Database (DSID) ฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW). https://issuu.com/deepsouthwatch/docs/dsid_anualreport_2014/1
หมายเหตุ : เรื่องเล่าส่วนนี้บางส่วนเคยตีพิมพ์ในรายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 3 ของโครงการมาแล้ว ผู้วิจัยนำมาปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน
และเนื้อหาในบทความนี้คัดลอกมาจากส่วนหนึ่งใน พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ และคณะ (2564) เรื่องเล่าเพื่อนรักต่างศาสนา : มิตรภาพ การปรองดอง และการก้าวข้ามความขัดแย้ง, นครปฐม : สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, หน้า 86-94
ดูเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อนรักต่างศาสนา หลากหลายคู่ ในตำบลยุโป อ.เมือง จ.ยะลา มาแบ่งปันเรื่องราวความสัมพันธ์ฉันมิตร 10-30 ปี ณ บึงบาโด ต.ยุโป (เมื่อ 10 พฤษภาคม 2567)
เพื่อนรักต่างศาสนา ร่วมกันพัฒนาชุมชน ณ ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา (24 กุมภาพันธ์ 2564)