ผู้ร่วมก่อตั้ง
ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์
เป็นนักวิชาการที่สนใจงานด้านการสร้างสันติภาพและความเป็นธรรมทางสังคม ทำงานสอนและวิจัยด้วยการทดลองเอาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ในสนามความขัดแย้งรุนแรงชายแดนใต้กว่าสิบปี เพื่อค้นหาขุมทรัพย์ลายแทงทางสังคมที่จะพอใช้เป็นต้นทุนสำหรับการคลี่คลายแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง
ด้วยตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เห็นต่าง ไปจนถึงขัดแย้งร้าวลึกทุกหย่อมหญ้า เป็นผลจากโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมการเมืองที่บ่มเพาะวัฒนธรรมความรุนแรง (Cultural Violence) และการกดขี่ปิดปาก การแปลงเปลี่ยนก้าวข้ามไปสู่วัฒนธรรมสันติภาพและความปรองดอง (Culture of Peace and Reconciliation) จึงต้องอาศัยชุดความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือหลากหลายชนิด เพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเปิดประตูใจช่วยให้ได้ยินเสียงกันและกัน สร้างวัฒนธรรมการเคารพความคิดต่างอย่างมิตรร่วมสังคม
ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล
เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง CoJOY Consulting องค์กรที่ปรึกษา จัดกระบวนการและโค้ช ด้านการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง การตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและรักษาความสัมพันธ์
ชาญชัยก้าวข้ามจากสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สู่ศาสตร์ด้านสันติภาพศึกษา, hate speech, และการคลี่คลายความขัดแย้ง โดยทำงานกับจิตวิทยาเชิงลึกของกลุ่มคน ผ่านงานคลี่คลายความขัดแย้งในองค์กร (ระหว่างผู้บริหารระดับสูง; ผู้บริหาร-ผู้จัดการ-พนักงาน; ระหว่างแผนก; ระหว่างรุ่น) และระดับสาธารณะในประเด็นศาสนา-ชาติพันธุ์-การเมือง (ชายแดนใต้ ในเมียนมาร์ การเมืองไทย ฯลฯ) มากว่า 15 ปี และร่วมแปลหนังสือ Reinventing Organizations (พากย์ไทยชื่อ “กำเนิดองค์กรสายพันธุ์ใหม่”) คัมภีร์เล่มสำคัญด้านการบริหารและพัฒนาองค์กร (Organization Development) สำหรับยุคนี้
ชาริต้า ประสิทธิหิมะ
เจ้าหน้าที่บริหารทั่วไป สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ประจำศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้
มีความรู้สึกดีใจที่ได้มาทำงานในโครงการนี้ เพราะได้รู้จักเพื่อนต่างศาสนา และเพื่อนต่างวัยมากขึ้น มีการประสานงานกันและได้ร่วมกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เวลามีปัญหาอะไรสามารถที่จะพูดคุยและปรึกษาหารือกัน มีความเห็นอกเห็นใจกันและเข้าใจกันมากขึ้น
สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือได้มีเพื่อนร่วมงานทั้งสามศาสนา พุทธ มุสลิม คริสต์ เพราะแม้ว่าต่างกันทั้งศาสนา ความเชื่อ และต่างวัย แต่พวกเราก็ไม่ยอมให้สิ่งนี้มาเป็นอุปสรรคขัดขวางในการทำงาน และไม่มีสิ่งใดน่าประทับใจไปกว่าการได้เห็นของเพื่อนร่วมงานเคารพในวัฒนธรรมของกันและกัน
กูมูฮำหมัดนูร กูโนะ
นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนปัตตานี กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ
มีแรงบันดาลใจที่อยากนำจุดเล็กๆที่เป็นสิ่งสำคัญในพื้นที่ แต่คนในพื้นที่ลืมเลือน และคนรุ่นหลังในพื้นที่และนอกพื้นที่ ได้เข้าใจสภาพแวดล้อมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลาย เช่น นับถือศาสนาเดียวกัน แต่วัฒนธรรมต่างกัน ภาษาต่างกัน ประวัติศาสตร์เล็กๆแต่อุดมไปด้วยความสัมพันธ์ เช่น มัสยิดที่ได้รับเงินบริจาคส่วนหนึ่งจากการทอดกฐิน เหล่านี้ทำให้ตนเองเข้าใจและคิดว่ามันคือความหลากหลายที่สวยงาม จึงอยากนำขึ้นมาขยายให้คนในและนอกพื้นทีาได้สัมผัสและเข้าใจพื้นที่มากขึ้น
สิ่งที่ประทับใจจากการเข้าร่วมโครงการเพื่อนรักต่างศาสนาคือ การได้เห็นภาพความจริงของคนในพื้นที่ ที่มีรอยแผลทางกายและทางใจจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯในอดีตที่ผ่านมา ที่ตำบลยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งคนเหล่านั้นได้ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเองจนทำให้ในพื้นที่กลับมาสงบสุขได้อีกครั้ง อีกทั้งยังเพิ่มความเข้มแข็งต่อพื้นที่ได้มากกว่าเดิม
ได้เห็นภาพแห่งความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ จ.สตูล คือการทำงานร่วมกันระหว่างผู้นำศาสนา ประชาชน เอกชน และรัฐ โดยใช้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกัน จนได้ข้อสรุปร่วมกัน นำไปสู่สันติภาพที่เกิดขึ้นจากจุดเล็กจนกลายเป็นจุดใหญ่ได้