ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (ชายแดนใต้)
การปรองดองเป็นเรื่องยากยิ่ง ด้วยหลายเหตุผล ที่สำคัญประการหนึ่ง น่าจะอยู่ที่ต้องพยายาม เข้าใจให้ได้ว่า ทั้งการปรองดองและตนเองอยู่ตรงไหนในแผนที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ นอกจากคนที่พยายามสร้างการปรองดองต้องตั้งคำถามว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่พยายามเข้าไปแก้ไขหรือไม่อย่างไรแล้ว ยังต้องเข้าใจด้วยว่า เราอาจบังคับให้คนที่ไม่ถูกกันมาอยู่ในที่เดียวกันได้ กระทั่งกำหนดให้มีการลงนามในสนธิสัญญาบางประเภทได้ เช่นสหรัฐอเมริกาใช้อำนาจที่เหนือกว่าของตัวบีบให้ประเทศที่ขัดแย้งกันอย่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มาเจรจากัน จนบรรลุข้อตกลง (agreement) ได้
แต่ความพิสดารของการปรองดองประการหนึ่งคือ ข้อตกลงที่ได้มาเช่นนี้ไม่ใช่การปรองดอง เพราะการปรองดองบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุผลที่บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ก็เพราะ การปรองดองเป็นกระบวนการ คำว่า “process” ในอารยธรรมฝรั่งเศสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 หมายถึง การเดินทาง และทุกการเดินทางมีทั้งเป้าหมาย มีวิธีการเดินทาง มีอุปสรรค และ มีระยะเวลา [ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “ร่องรอยความปรองดองใต้เงาความขัดแย้ง,” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 36 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2558), น 63-80]
John Paul Lederach เคยตั้งคำถามไว้ใน The Moral Imagination (Oxford University Press, 2005) ว่า “ก็ถ้าการปรองดองไม่ใช่ทางสายตรงตามสูตรของการสะสมกิจกรรมต่างๆที่มุ่งก่อให้เกิดผล แต่เป็นดังกระบวนการทางศิลปะที่สร้างสรรค์เล่าจะเป็นอย่างไร?” (p. 159) จะเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ แต่ที่ตอบได้คือยากยิ่งแน่
การพยายามอยู่กับความขัดแย้งซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การก้าวข้ามความขัดแย้งเป็นเรื่องยากเข็ญกว่าเพราะ ในกระบวนการแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้ง (conflict transformation) สำนัก Transcend ต้องอาศัยองค์สาม คือ สันติวิธี(nonviolence) การเอาใจเขามาใส่ใจเรา(empathy) และ ความคิดสร้างสรรค์(creativity) [โยฮัน กัลตุง (เขียน) เดชา ตั้งสีฟ้า (แปล) การแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (คบไฟ, 2550)] ทั้งสามประการนี้ข้าพเจ้าไม่เห็นว่ามีข้อใดง่าย ที่สำคัญ อาจกล่าวได้ว่า ที่ยากเข็ญคือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะคำๆนี้หมายความว่า อย่างน้อยมีหัวใจสองดวง จะเอาหัวใจของอีกฝ่ายหนึ่งที่เราอาจไม่คุ้นเคย แยแส กระทั่งโกรธเกรี้ยว เกลียดชังเขามาสวมใส่ในอกเราโดยยกหัวใจของเราเองออกไว้ชั่วขณะย่อมยากเข็ญยิ่งนัก แต่หากไม่ทำ ก็เท่ากับฝังตนเองไว้ในหลุมของโลกที่คุ้นเคยจนมองไม่เห็นไม่รู้สึกว่า เสียงร้อง ความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งมีความชอบธรรมให้ต้องรับรู้รับเห็นอยู่ที่ไหน แล้วจะแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้งกันอย่างไร?
แต่ไม่ว่าจะยากยิ่งหรือยากเข็ญก็ต้องพยายามเพราะ ความลับของความสำเร็จอาจอยู่ที่มิตรภาพระหว่างผู้คนที่แตกต่างกัน Aristotle กล่าวไว้ในหนังสือ Nicomachean Ethics (Book VIII): 1155 ว่า “หากไม่มีมิตรก็ไม่มีผู้ใดเลือกจะมีชีวิตต่อไป” “Without friends no one would choose to live.” Aristotleในฐานะนักปรัชญาผู้ตั้งคำถามถึงชีวิตที่ดีกำลังชี้ให้เห็นว่า ชีวิตที่ดีต้องมีเพื่อนด้วย ตรงนี้มีคำถามขึ้นอีกหลายข้อ เช่น เพื่อนเป็นอย่างไร ใครควรเป็นเพื่อนของเรา เหตุใดชีวิตที่ดีจึงดำรงอยู่โดยลำพังมิได้ เป็นต้น
บางทีคำตอบต่อคำถามเหล่านี้โดยเฉพาะคำถามสุดท้ายอาจอยู่ที่เพลงประจำสโมสรฟุตบอล Liverpool ของอังกฤษ เพลงที่ชื่อว่า “You will never walk alone”
เพลงนี้ชวนให้เราเดินฝ่าลม ฝ่าฝน แม้นว่าความฝันจะถูกพัดสลายไป แต่ให้เราเดินต่อไปด้วยความหวังในหัวใจ เพราะเรา(คนที่มีมิตร)จะไม่มีวันเดินคนเดียว
“Walk on through the wind
Walk on through the rainThough your dreams be tossed and blown
Walk on, walk on
With hope in your heart
And you’ll never walk alone”
——-
หมายเหตุ : บางส่วนจาก “คำเตือน: ว่าด้วย ความยากยิ่ง ยากเข็ญ และความความจำเป็น” โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ใน เรื่องเล่าเพื่อนรักต่างศาสนา : มิตรภาพ การปรองดอง และการก้าวข้ามความขัดแย้ง, นครปฐม : สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, โดย พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ และคณะ, 2564.