เพื่อนรักปะนาเระ
“ผู้ใหญ่จุ๊บ” สตรีพุทธ กับ “บาบอมะ” แห่งปะนาเระ
พื้นที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี สำหรับผู้ที่ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้มาตั้งแต่ต้นคงจดจำได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้ง และมักเป็นความรุนแรงที่ถึงตายแบบโหดร้ายสะเทือนขวัญ
เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม มากที่สุด น่าจะเป็นเหตุการณ์การสังหารพระภิกษุสงฆ์ที่วัดพรหมประสิทธิ์
เมื่อช่วงกลางดึกก่อนย่างเข้าสู่วันที่ 16 ตุลาคม 2548 เกิดเหตุสะเทือนความรู้สึกชาวไทยทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะชาวพุทธ เมื่อคนร้ายจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปในวัดพรหมประสิทธิ์ หมู่ 2 บ้านเกาะ ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาลงมือฆ่าเผาพระ – เด็กวัด ก่อนจุดไฟเผากุฏิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ราย คือ พระแก้ว โกสโร อายุ 78 ปี ที่ทั้งโดนตีด้วยไม้และถูกฟันด้วยมีดพร้าจนมรณภาพ ต่อมาคือ นายหาญณรงค์ คำอ่อง อายุ 17 ปี และ นายสถาพร สุวรรณรัตน์ อายุ 15 ปี ซึ่งเป็นเด็กวัดทั้งคู่ พวกเขาถูกยิงและถูกฟันด้วยมีดพร้าเช่นเดียวกัน รวมถึงใช้ไม้ตีจนเสียชีวิต จากนั้นนำศพไปไว้บนกุฏิ แล้วใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟเผาทำลายกุฏิ และยังมีการทำลายข้าวของภายในโบสถ์ รวมถึงรูปหล่อหลวงพ่อพรหมที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์จนได้รับความเสียหาย (คมชัดลึก, 16 ตุลาคม 2560) เหตุการณ์ดังกล่าวทำลายขวัญและกำลังใจของชาวพุทธในพื้นที่ไปไม่น้อย แม้ว่าเบื้องหน้าเสียงชาวพุทธจะกล่าวว่า “ไม่เป็นไร” แต่ในใจนั้น “เจ็บปวดมาก บรรยากาศมันหดหู่เงียบเหงา ไม่เหมือนเดิม” (บทสนทนากับกลุ่มผู้สูงวัยที่มาทำบุญที่วัดดอนกลาง, 15 พฤศจิกายน 2563)
ปลายปี 2563 ความสัมพันธ์ของผู้คนที่ปะนาเระ และความรู้สึกลึก ๆ ของฝ่ายพุทธกล่าวได้ว่าไม่สนิทใจที่จะสานสัมพันธ์กับเพื่อนมุสลิม แม้ว่าหลายคนจะบอกว่า “ไม่มีอะไร” และ “เราก็ยังเป็นเพื่อนกัน” “ผ่านไปมาก็ทักทายกัน” แต่สิ่งที่สังเกตได้คือร่องรอยความทรงจำบาดแผลที่ปิดซ่อนไว้ กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ที่มาประจำที่วัดพรหมประสิทธิ์เพื่อมิให้วัดต้องร้างจากการมีพระจำพรรษาและอยู่ประจำยังมีเพียงรูปเดียวเท่านั้น เมื่อสอบถามว่าเหตุใดจึงมีเพียงรูปเดียว คำตอบทีเล่นทีจริงที่สวนกลับมาว่า “ใครจะกล้ามาอยู่ กลางทุ่งขนาดนี้ และมีแต่มุสลิมล้อมรอบ” (เจ้าอาวาส, 17 ตุลาคม 2563)
ในพื้นที่ซึ่งท้าทายเช่นนี้ ความพยายามของภาครัฐและทุกภาคส่วนยังคงทุ่มเทไปที่การสร้างความสัมพันธ์แนวพหุวัฒนธรรม การสร้างกิจกรรมที่ทำให้ผู้คนได้มาปฏิสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะผ่านงานที่ทางราชการจัดขึ้น ทว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีชีวิตคือบรรดาผู้คนธรรมดาที่จะไปมาหาสู่กันก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นลดลง หากแต่มีเพื่อนรักคู่หนึ่งที่ยังยืนหยัดและพยายามทำงานเพื่อรักษาและถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างพุทธ – มุสลิมอย่างมั่นคง มุ่งมั่นพยายามที่จะทำงานเพื่อฟื้นฟูความปรองดองสมานฉันท์ในพื้นที่
“ผู้ใหญ่จุ๊บ” สมใจ ชูชาติ สตรีพุทธที่เกิดและเติบโตในปะนาเระใน ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เธอได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 มา 3 สมัยแล้ว ทั้ง ๆ ที่หมู่ 3 ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่ด้วยความสามารถและด้วยความไว้วางใจของชาวบ้าน ผู้ใหญ่จึงได้รับเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง นอกจากการทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว ผู้ใหญ่ยังสนใจทำงานเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ และเป็นสตรีพุทธที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการทำงานด้านพหุวัฒนธรรม และงานสังคมอื่น ๆ ที่จะหนุนเสริมภาพลักษณ์ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลับมาเป็นภาพที่ไม่ถูกตีตราด้วยความหวาดกลัวอีก
ผู้ใหญ่จุ๊บเข้าร่วมงานกับ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามาหลายปีในนามของกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) และเป็นตัวแทนของกลุ่มหลายครั้งในการนำการเสวนาระหว่างศาสนา นำการเสนาเรื่องการสร้างสันติภาพและความปรองดองในพื้นที่
ผู้ใหญ่สนทนากับเราด้วยสำเนียงพื้นถิ่นภาษา “นาเระ” ที่มีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นซึ่งเธอภาคภูมิใจ และมักจะเล่าขานให้ผู้คนที่มาจากภายนอกได้รู้จักภาษาถิ่นที่ทั้งเธอและเพื่อนมุสลิมที่ปะนาเระต่างก็พูดภาษานี้ได้ และเป็นภาษาที่ยึดโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ในขณะที่เพื่อนสนิทของเธอที่เป็นมุสลิมและปัจจุบันเป็นโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดท่ากะดี หรือ “ตักดี” “อิหม่ามมะ” หรือ “บาบอมะ” ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทที่ชาว อ.ปะนาเระ รู้จักกันดี ด้วยต่างทำหน้าที่หนุนเสริมการทำงานพัฒนาท้องที่ และมักพบเห็นทั้งสองคนตามงานประชุมและงานสังคมพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งในงานที่เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในพื้นที่ด้วย
ความสัมพันธ์ที่ยาวนานถักทอตั้งแต่เยาว์วัย เรียน เล่นมากับทุ่งนาป่าเขาและชายทะเลปะนาเระมาด้วยกันตั้งแต่จำความได้ “โตมา 8-9 ขวบ ก็จำความได้ว่าเราเป็นเพื่อนกัน” ทั้งสองคนกล่าว
“โต๊ะอิหม่ามมะ” หรือ “บาบอมะ” เอ่ยด้วยสำเนียงภาษานาเระ
เราเป็นเพื่อนก่อนหน้านั้น ความทรงจำที่ประทับใจก็คือ สมัยเด็ก ๆ มาดูโทรทัศน์ที่บ้านผู้ใหญ่จุ๊บ สมัยนั้นทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบลด้วยมั้ง (หัวเราะ) มีโทรทัศน์เครื่องเดียวที่บ้านผู้ใหญ่นี่ล่ะ ใช้เครื่องปั่นไฟ จริง ๆ บ้านผู้ใหญ่จุ๊บอยู่คนละหมู่กัน แต่ก็มาดูตามประสาเด็ก ๆ
“บาบอมะ” เป็นชาวปะนาเระ เกิดและโตที่ปะนาเระ บาบอมะเล่าภูมิหลังส่วนตัวว่า เป็นเด็กยากจน พ่อแม่เสียตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จึงอยู่กับญาติ ครอบครัวมีฐานะไม่สู้จะดีนัก แต่ก็อุตสาหะในการเล่าเรียน เรียนไปทำนาไปตามประสาคนปะนาเระ มีช่วงหนึ่งที่ต้องไปอยู่ซาอุดิอาระเบียเพื่อศึกษาเล่าเรียนทางศาสนา แต่ด้วยเป็นคนปะนาเระ เมื่อเรียนจบก็กลับมาอยู่บ้านซึ่งมีความรุนแรงพอดี และเป็นช่วงที่ถูกท้าทายอย่างหนักจากเหตุการณ์ความรุนแรงและการลอบสังหารพระภิกษุสงฆ์ เหตุการณ์นั้นอาจทำให้คนอื่น ๆ หวั่นไหวและไม่กล้าไปมาหาสู่กัน ทว่าสำหรับผู้ใหญ่จุ๊บ และบาบอมะ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ทั้งสองเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงยิ่งต้องคุยกัน โทรศัพท์สอบถามกันว่าความจริงคืออะไร และอาศัยว่าเป็นเพื่อนกันมานาน เชื่อใจว่าเพื่อนพูดจริงและเชื่อได้ ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า
หักลบกันไปก็น่าจะ 40 กว่าปีแล้วที่เรารู้จักกัน สมัยก่อนแถวนั้นถึงบ้านเรามีภารกิจเลี้ยงวัว มีการปลูกแตงโมกัน คบหาเหมือนพี่น้องกัน อยู่กันเป็นสุขตั้งแต่รู้จักกันมา
ตั้งแต่วันนั้นไม่เคยลืม มีเรื่องอะไรก็ตามเราหาทางพูดคุยกัน เราเรียนโรงเรียนเดียวกันมาก่อนด้วย ก่อนที่บาบอจะหายไปช่วงหนึ่งตอนเล่าเรียนที่ต่างประเทศ พอกลับมาก็ยังเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม
ปะนาเระในความทรงจำร่วม
ถ้าพูดถึงคำว่าปะนาเระ ในอดีตประกอบด้วย 10 ตำบล แต่ละตำบลมีความหลากหลายอยู่ในตัว มีทั้งพื้นที่ที่เป็นภูเขา พื้นที่ราบ พื้นที่ทะเล เรียกได้ว่า “เขา ป่า นา เล” มีครบใน อ.ปะนาเระ
ผู้ใหญ่จุ๊บเล่าให้ฟังว่า บ้านของเธออยู่ติดฝั่งภูเขาและติดถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างปัตตานี – นราธิวาส ย่านพื้นที่เชิงเขาชาวบ้านส่วนใหญ่ทำสวน ปลูกมะพร้าว ปลูกยางพารา อย่างไรก็ดี ชาวปะนาเระก็จะกันพื้นที่ไว้สำหรับทำนาปลูกข้าวด้วย หากเข้ามาในพื้นที่จะพบพื้นที่นาข้าวยาวสุดลูกตา ที่บ้านของผู้ใหญ่ทำนา ญาติพี่น้องก็ทำนาเช่นกัน นอกจากนี้ ปะนาเระยังเป็นพื้นที่ที่มีต้นตาลโตนดจำนวนมาก แม้ปัจจุบันจะหายไปเกือบหมดแล้ว แต่ในอดีตอาชีพดั้งเดิมของพี่น้องปะนาเระก็คือ การทำน้ำตาลโตนด ทํานา เลี้ยงวัว เป็นต้น
โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บ้านนอก ที่ผู้ใหญ่อาศัยอยู่ อาชีพหลักของชาวบ้านนอกคือ ทำนา เลี้ยงวัว ทำน้ำตาลโตนด
มีเรื่องเล่าขานถึงความเป็นมาของชื่อตำบล “บ้านนอก” ว่า เป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากความเจริญ ถนนหนทางเป็นทางเกวียน ในอดีตผู้คนที่นี่ใช้เกวียนในการเดินทางและการค้าขาย
ปัจจุบัน ต.บ้านนอกมีพี่น้องมุสลิมมากกว่าร้อยละ 70 และพุทธราวร้อยละ 30 แต่ความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ของผู้คนส่วนใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักสำหรับคนรุ่นอาวุโส สังเกตได้จากการมีกิจกรรมทางสังคม เช่นงานแต่งงาน งานบุญต่าง ๆ จะเห็นคนสูงอายุไปร่วมกิจกรรมกันหนาตา กระนั้นก็สังเกตได้ว่าคนรุ่นใหม่น้อยลง
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนพุทธ – มุสลิมยังคงดีกันอยู่ “เรายังเป็นเพื่อนกัน ยังทำงานร่วมกันอยู่ ทุกเดือนเราเข้าประชุมร่วมกันที่สภาตำบลบ้าง ประชุมกับหน่วยงานของอำเภอบาง เวลามีข้อสงสัยอะไรก็ยกหูโทรหากัน” ผู้ใหญ่จุ๊บกล่าว
เพื่อนส่งเสริมศรัทธา
สำหรับผู้ที่มิใช่มุสลิมบางคนอาจไม่คุ้นเคยกับวิถีมุสลิม และไม่รู้ว่าแต่ละวัน มุสลิมต้องปฏิบัติกิจศรัทธาอะไรบ้าง แต่สำหรับเพื่อนที่คบหารักใคร่กันมาตั้งแต่เด็ก วิถีชีวิตของเพื่อนย่อมอยู่ในสายตาของเพื่อนเสมอ และมองว่า “มุสลิมเคร่งครัดในศาสนาเป็นเรื่องดีที่เราควรส่งเสริม เราคนพุทธเสียอีกที่เคร่งครัดได้ไม่เท่าเพื่อน” (ผู้ใหญ่จุ๊บ, 17 ตุลาคม 2563) ยิ่งมีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ก็ยิ่งมีโอกาสได้ดูแลเพื่อนบ้านมุสลิมมากขึ้น
เมื่อคราวที่ทางมุสลิมในตำบลต้องการจะสร้าง “บาลาเซาะ”[1]ในฐานะที่ “จุ๊บ” เป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็ให้การดูแลเพื่อนมุสลิมที่มีอยู่จำนวนไม่มากนัก และยังไม่มีมัสยิดของหมู่บ้าน แต่ผู้ใหญ่เห็นว่าการส่งเสริมให้เพื่อนมุสลิมได้มีสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่แน่ใจในเรื่องหลักปฏิบัติ จึงได้ปรึกษาไปยังบาบอมะ ในที่สุดสามารถสร้างบาลาเซาะให้เพื่อนมุสลิมในหมู่บ้านได้สำเร็จ
ด้วยความใส่ใจดูแลเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิมอย่างจริงใจของผู้ใหญ่ ผลก็คือ ชาวมุสลิมปะนาเระต่างก็ให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่จุ๊บถ้วนหน้ากัน
ในส่วนของบาบอมะ เล่าให้ฟังถึงมิตรภาพและความผูกพันที่มีต่อเพื่อนสนิทต่างศาสนา ต่างเพศว่า
เห็นกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ เรียนโรงเรียนเดียวกัน โตมาก็ยังไปมาหาสู่ มีงานให้ต้องมาทำด้วยกัน เอาเข้าจริง ๆ วิถีคนปะนาเระนั้นผสมผสาน ไม่ได้แยกกัน เคยทำนาแปลงเดียวกัน วันดีคืนดีมีการแต่งงานข้ามศาสนากันด้วย เราอยู่ด้วยกันมานาน รู้วิถีของกันและกัน เวลามีใครเสียชีวิตก็ไปงานบุญกัน
ในเรื่องพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งต่างฝ่ายต่างก็รู้ดีว่าเป็นพื้นที่สงวนไว้สำหรับศาสนิกของแต่ละศาสนา
เราแยกกันปฏิบัติ และเรียนรู้ว่ากิจกรรมใดที่ควรจะบอก เชิญกัน เช่น งานประเพณีของตำบลที่ไม่ได้มีพิธีกรรมทางศาสนา เราก็เข้าร่วมได้ เชิญมาได้ อะไรที่เกี่ยวกับศาสนาก็ขอว่าอย่าเชิญไปเลย เดี๋ยวจะทำให้เข้าใจผิดกันเสียเปล่า ๆ เรารู้กันอยู่แล้วเรื่องข้อสงวน อีกประเด็นหนึ่งมีคนชอบพูดว่า ทำอะไรกันในมัสยิด คนที่ไม่เข้าใจก็หาว่าทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า ปลุกระดมหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ เราปฏิบัติศาสนกิจของเรา แต่หากเป็นช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาศาสนกิจปกติก็มาได้ เช่นอย่างนี้ก็มาได้ เรายินดีต้อนรับด้วย ผู้ใหญ่จุ๊บเข้าใจและรู้ดี
มิตรภาพ อัตลักษณ์ และความท้าทาย
ปะนาเระ และในพื้นที่ชายแดนใต้ อัตลักษณ์วัฒนธรรมศาสนาอิสลามกล่าวได้ว่า เป็นอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งจนบางครั้งก็ทำให้คนในพื้นที่เองรู้สึกแปลกแยกกับวัฒนธรรมหลักของไทยที่เป็นกรอบโครงของสังคมการเมืองที่ทั้ง “ปก” และ “ครอง” ระบบระเบียบของชีวิตมุสลิมจนบางทีก็รู้สึกอึดอัด
ดังที่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยเขียนไว้ในงานภาษาอังกฤษเรื่อง The Life of This World: Negotiated Muslim Lives in Thai Society (2005) บอกเล่าถึงชีวิตที่ต้องต่อรองของมุสลิมซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไทยที่มีวิถีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ขณะที่การเป็นมุสลิมมีกรอบกฎของชีวิตที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในขณะที่การเป็นมุสลิมและเป็นพลเมืองในประเทศพุทธก็มีกรอบกฎอีกชุดหนึ่งที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งบางครั้งก็ไม่เข้ากับกรอบกฎของการเป็นมุสลิม การรักษาวิถีชีวิตความเป็นมุสลิมในสังคมนี้จึงเหมือนกับการขับยวดยานของตนไปบนถนนที่ต้องประคองตัวให้ไม่หลุดออกนอกเส้นทาง และไม่ล้ำเส้นหรือเฉี่ยวชนกับยวดยานของคนอื่นที่แล่นสวนทางมา เป็นชีวิตที่ต้องต่อรอง อันที่จริง ชีวิตของมุสลิม หรือ ของพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ก็มีเรื่องราวที่ต้องต่อรองและประคองชีวิตไปบนถนนของมิตรภาพ
โดยเฉพาะในห้วงยามที่สังคมถูกคุกคามด้วยความรุนแรงยืดเยื้อมานาน ด้านหนึ่งบริบทของสถานการณ์ก็กดดันให้ชีวิตประจำวันคล้าย ๆ มีกรอบกฎที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้กรอบกฎของศาสนาและวัฒนธรรมถูกขับเน้นมากขึ้น เช่นที่คณะกรรมการอิสระสมานฉันท์ (กอส.) ได้เคยวินิจฉัยไว้ตั้งแต่ปี 2549 ว่า
ความแตกต่างระหว่างชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่กับคนไทยพุทธที่เป็นคนกลุ่มนอ้ยในเรื่องต่าง ๆ จะชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่องการมีทหารในพื้นที่ การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือการควบคุมสถาบันศึกษาปอเนาะ อาจเพราะอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มโดดเด่นขึ้น ขณะเดียวกันก็ยอมรับสถาบันวัฒนธรรมประเพณีร่วมกันน้อยลง (ฟ้าเดียวกัน, 2548: 85)
และเมื่อเวลาผ่านไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงที่ข้ามเส้นแบ่งทางศาสนาและวัฒนธรรมเมื่อค่ำคืนวันที่ 22 มกราคม 2547 ที่วัดพรหมประสิทธิ์ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากมัสยิดตักดีนั้น ยังคงอยู่ในความทรงจำ กระนั้นก็มีความพยายามที่จะประคับประคองความสัมพันธ์และรักษาไว้ให้แข็งแรง ผ่านการทำงานของเพื่อนรักต่างศาสนา “บาบอมะ” และ “ผู้ใหญ่จุ๊บ”
หน้าวัดพรหมประสิทธิ์มีบ้านคนมุสลิมหลังหนึ่ง เราก็พยายามไปเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่กัน เพื่อจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ (ผู้ใหญ่จุ๊บ, 15 พฤศจิกายน 2563)
มัสยิดเราได้รางวัลหลายครั้ง ก็เพราะผู้ใหญ่จุ๊บมาช่วย มาแนะนำ บอกให้เราทำแบบนี้ ๆ นะ เราก็ทำ เราได้รางวัลมัสยิดที่มีห้องน้ำสวยสะอาดที่สุดเลย (ยิ้มอย่างภาคภูมิใจ) แล้วส่งมัสยิดเข้าประกวดหลายครั้ง ผู้ใหญ่ก็ช่วยให้คำแนะนำ เราก็ได้รางวัล (บาบอมะ, 15 พฤศจิกายน 2563)
เมื่อมีข่าวลือ หรือมีประเด็นที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อกัน ทั้งสองฝ่ายจะรีบติดต่อเพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจกันโดยไม่ชักช้า เพื่อมิให้เป็นประเด็นค้างคาใจ
พี่จุ๊บว่าสำคัญมากนะ หากปล่อยไว้ก็จะยิ่งเสียหาย เมื่อมีประเด็นอะไร พี่จะรีบโทรหากันเลย ถามตรง ๆ ไปเลย เราเป็นเพื่อนกัน เชื่อใจ รู้ใจกัน ยิ่งช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงนี่ยิ่งต้องอย่าหาย ต้องสื่อสารกัน
นอกเหนือจากการเป็นเพื่อนที่ใส่ใจ จริงใจ และเรียนรู้วิถีชีวิตของกันและกันจนเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว “ความไว้วางใจ” เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่
พอเราเป็นเพื่อนกันมันง่ายที่จะก้าวข้ามข่าวลือหรือเหตุการณ์อะไรก็ตามที่จะทำให้ความสัมพันธ์เราเสียหาย…
ความเป็นเพื่อนกันนี่แหละ ที่ทำให้เราพร้อมกับพื้นที่ทำงานด้วยกันแล้วก็พยายามที่จะสร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ใน 3 จังหวัด ในเวทีการทำงานเพื่อการสร้างสันติภาพและความปรองดองในพื้นที่ เราไปทำงานด้วยกันหลายเวที
พอเราเป็นเพื่อนกัน เรียนด้วยกัน เล่นด้วยกัน ผูกพันกันมา ต่อให้ยังไงเสียเราก็ยังเป็นเพื่อนกัน เชื่อใจกัน มีช่วงหนึ่งที่บาบอหายไป ไปเรียนต่างประเทศเนอะ แต่พอกลับมาเราก็ยังสนิทกัน มันคือเพื่อนไง
ต่อให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นยังไง เราก็ยังกล้าไปมาหาสู่ ต้นทุนแบบนี้มันคือรากฐานสำคัญที่ทำให้เมื่อมาเจอกันหลังจากบาบอกลับมาจากซาอุดิอาระเบีย ก็ทำให้ง่ายต่อการที่เราจะคุยกัน (ผู้ใหญ่จุ๊บ, 1 พฤษภาคม 2564)
[1] สถานที่สำหรับประกอบการละหมาดในหมู่บ้าน กรณีที่ยังไม่มีมัสยิด หรือมีมัสยิดแต่อยู่ห่างไกล ชาวบ้านในพื้นที่จะสร้างบาลาเซาะไว้สำหรับการปฏิบัติศาสนกิจในชีวิตประจำวัน
เอกสารอ้างอิง
คมชัดลึก. (16 ตุลาคม 2560). 16 ต.ค. 2548 สลดไม่ลืม ฆ่าเผาพระ เด็กวัดพรหมประสิทธิ์. https://www.komchadluek.net/today-in-history/299067.
Satha-anand, Chaiwat. (2005). The Life of This World: Negotiated Muslim Lives in Thai Society. Singapore: Marshall Cavendish Academic.
หมายเหตุ : คัดลอกมาจากส่วนหนึ่งใน พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ และคณะ (2564) เรื่องเล่าเพื่อนรักต่างศาสนา : มิตรภาพ การปรองดอง และการก้าวข้ามความขัดแย้ง, นครปฐม : สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, หน้า 56-64