INTERFAITH BUDDY for PEACE

เล่มที่ 1 : ปั่นปันบุญ ปะนาเระ

ที่มาของโครงการ
    ความขัดแย้งเป็นสภาวะความปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกสังคม และความขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์ก็ก่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ได้ หากแต่ความรุนแรงต่างหากที่เป็นความผิดปกติและไม่ควรให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะในสังคมไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยศาสนาและวัฒนธรรมอันรุ่มรวย และคนไทยใจกว้างเปิดรับความแตกต่างหลากหลายได้ ดังนั้น การจะทำให้ความขัดแย้งหมดสิ้นไปจากสังคมอาจเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในสังคมใดสังคมหนึ่ง สิ่งที่เป็นไปได้และมีความเป็นจริงมากกว่าคือ การทำให้สมาชิกในสังคมสามารถจะอยู่ร่วมกันได้โดยที่มีทักษะในการขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์ ไม่เปิดช่องให้ใช้ความรุนแรงสร้างประวัติศาสตร์บาดแผลและทิ้งมรดกเป็นความร้าวลึกทางความสัมพันธ์และนำมาสู่ความแตกแยกกันอย่างที่เป็นอยู่

     ผู้วิจัยในฐานะที่เป็นสมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานวิจัยร่วมกับเครือข่ายคณะทำงานภาคประชาสังคมและหน่วยงานราชการ และองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เราตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูเยียวยาและถักทอความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมเพื่อเป็นตาข่ายสายใยที่จะป้องกันมิให้ความแตกต่างกลายเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง นอกจากนี้ เรายังเห็นอีกว่า หากผู้คนในสังคมได้มีโอกาสเรียนรู้ในกระบวนการเดียวกันนี้แล้ว ต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมในชายแดนใต้และในสังคมไทยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ก็จะสามารถนำมาเป็นเครื่องค้ำจุนความสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างดี เราจึงได้นำเสนอโครงการนี้เพื่อเชิญชวนให้ผู้นำทางสังคม ผู้นำทางศาสนาได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำศักยภาพแห่งตนมาใช้เพื่อการก้าวข้ามความแตกต่าง เยียวยาฟื้นฟูความสัมพันธ์และนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ในสังคม…

กิจกรรม “ปั่น ปัน บุญ”

    อำเภอปะนาเระนั้นถูกป้ายว่าเป็นพื้นที่สีแดง หมายถึง มีความรุนแรงระดับสูงและเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นหมุดหมายของความรุนแรงระลอกปี 2547 ที่ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรม คือ พุทธ-มุสลิม แยกห่างจากกัน แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เป็นสักขีพยานว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรมกำลังได้รับการถักสานฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โต๊ะอิหม่ามในพื้นที่บอกว่า “รู้สึกเป็นเกียรติมาก ๆ ที่ได้ต้อนรับพระ และก็พระผู้หญิง และก็ทุกๆ คน ด้วยความตื่นเต้นดีใจพูดไม่ถูก มัสยิดของเราเล็ก ๆ เท่านั้นและไม่มีสถานที่หรูหราสำหรับต้อนรับ” ส่วนชาวพุทธที่เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนว่า “รู้สึกมีความหวังมากขึ้นที่ภาพความสัมพันธ์ดี ๆ ในอดีตกำลังจะคืนกลับมาที่บ้านของเรา”

Scroll to Top