หลักสูตรเสริมศักยภาพเพื่อนรักต่างศาสนาเพื่อสันติภาพและความปรองดองในสังคมไทย (online 6 โมดูล)
โมดูลที่ 1 : กระบวนการสันติภาพ (2:14 ชั่วโมง)
โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
วันอาทิตย์ ที่ 27 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00-16.00 น.”
หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่ากระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ของไทยคืออะไร ทำไมต้องมี หลายคนอาจจะถามว่าหลายปีผ่านไปกระบวนการสันติภาพก้าวหน้าหรือถอยหลังอย่างไร เชิญชวนมาเรียนรู้เส้นทางกระบวนการสันติภาพและความท้าทายภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่เกาะติดกระบวนการสันติภาพโดยตรง
โมดูลที่ 2 – การปรองดอง : กรณีศึกษาในต่างประเทศและประเทศไทย (2:35 ชั่วโมง)
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช ศรีโภคางกุล
วันที่ 10 กันยายน 2566 เวลา 10.00 – 12.00 น.
ก้าวข้ามความขัดแย้ง สลายขั้วความขัดแย้ง ปรองดองกันเสียเถอะ!
การปรองดองสามารถทำได้ง่ายเพียงคำพูดข้างต้นเช่นนั้นหรือ?
แล้วระบบความยุติธรรมในสังคมจะจัดการอย่างไรกับความเป็นธรรมต่อผู้เสียหายที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมยังตั้งข้อกังขากันให้แซด
บทเรียนกระบวนการปรองดองจากนานาประเทศเขาทำกันอย่างไร จะจัดการกับความอยุติธรรมอย่างไร จะเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์และความทรงจำบาดแผลแบบใด จะรื้อฟื้นคืนความสัมพันธ์ระหว่างศัตรูคู่อาฆาตให้กลายมาเป็นมิตรร่วมป้องกันความผิดพลาดเสียหายซ้ำอีกได้อย่างไร
ร่วมกันเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการสร้างความปรองดองในหลากหลายประเทศที่เคยขัดแย้งกันอย่างรุนแรงถึงฆ่ากันไปมา
โมดูลที่ 3 – สื่อกับความรุนเเรงสุดโต่ง (2:16 ชั่วโมง)
โดย คุณพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักวิจัยอิสระ
ในวันอาทิตย์ ที่ 24 กันยายน 2566
“สื่อ” เป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ความรุนแรงสุดโต่งถึงขั้นนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติด้วยกันก็หลายครั้งมาแล้วในประวัติศาสตร์ ในอีกด้านของสื่อก็มีบทบาทสื่อสารสร้างสันติภาพ ความเป็นธรรม และคืนความปรองดองให้สังคมได้ ทำอย่างไรเราจะเรียนรู้และใช้สื่ออย่างไหวรู้เท่าทัน
โมดูลที่ 4 – สื่อกับความรุนเเรงสุดโต่ง (2:08 ชั่วโมง)
โดย นพ.มูหาหมัดอาลี กระโด (โรงพยาบาลยะรัง จ.ปัตตานี)
ในวันอาทิตย์ ที่ 8 ตุลาคม 2566
แพทย์และบุคลากรทางสุขภาพหาใช่มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบเพียงแค่การดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น หากแต่แพทย์และบุคลากรทางสุขภาพหลายคนยังมีบทบาทในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงในหลายพื้นที่ของโลกใบนี้ รวมทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย แต่น้อยคนนักที่จะได้รับทราบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเหล่านั้นทำงานสร้างสันติภาพอย่างไร
โครงการเพื่อนรักต่างศาสนาฯ เริ่มต้นทำงานขับเคลื่อนสันติภาพและความปรองดองในพื้นที่ได้ก็เพราะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ความร่วมมือและหลายครั้งก็เป็นสะพานเชื่อมไปหาชุมชนที่เข้าถึงได้ยาก เราทำงานโดยใช้กรอบแนวคิดเรื่อง “สุขภาพสะพานสู่สันติภาพ” (Health as a Bridge for Peace) และยังมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อีกหลายคนที่ทำงานในแนวทางนี้
การทำงานภายใต้กรอบคิดดังกล่าวเป็นอย่างไร เพื่อนรักต่างศาสนาฯ เชิญชวนทุกท่านมาฟังหลักการและประสบการณ์จากนายแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรง
โมดูลที่ 5 – สื่อกับความรุนเเรงสุดโต่ง (2:16 ชั่วโมง)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร หมาดเด็น
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566
ปาเลสไตน์และอิสราเอลดินแดนที่ “ศาสนาและความเชื่อ” ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงถึงขั้นทำสงครามต่อกัน…แต่นั่นคือแก่นสาระสำคัญของศาสนาหรือ? หรือเอาเข้าจริง “ศาสนาและความเชื่อ” ถูกทำให้เป็นเครื่องมือของการเมือง?
คำถามที่ควรต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียดละออรอบด้าน เฉกเช่นเดียวกับกรณีความขัดแย้งรุนแรงในชายแดนใต้ของไทย
อะไรคือพลังของศาสนากันแน่? พลังแห่งการสร้างสรรค์บ่มเพาะศีลธรรมส่วนตนไม่สนใจใส่ใจสังคม? พลังยึดเหนี่ยวสังคมจนหลงลืมตั้งคำถามกับแก่นสาระธรรมทางเทววิทยาของศาสนา หรือเป็นพลังแห่งการทำลายล้างด้วยความรุนแรง
แท้จริง “ศาสนา” เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับสงคราม ความรุนแรงและการสร้างสันติภาพบนฐานมิตรภาพอย่างไร
เพื่อนรักต่างศาสนาฯ มุ่งมั่นใช้หลักศรัทธาและความเมตตากรุณาของเพื่อนรักแต่ละศาสนาและความเชื่อมาขับเคลื่อนสร้างศรัทธาในมิตรภาพเพื่อสร้างสันติภาพและความปรองดองในสังคมด้วยสติ ความรู้ ความเข้าใจ และความไหวรู้เท่าทันเชิญชวนผู้สนใจสดับรับฟัง ตั้งคำถาม ชวนสนทนาเพื่อค้นหาขุมทรัพย์แห่งสันติธรรมและความเกื้อกูลกรุณาและศรัทธาในศาสนา พร้อมกับความไหวรู้เท่าทันไม่ตกหลุมพรางแห่งความไม่รู้ในศาสนากับนักวิชาการคนสำคัญและบรรณาธิการร่วมของหนังสือชื่อ “ศาสนากับความรุนแรง” (2562). สำนักพิมพ์ปัตตานีฟอรั่ม
โมดูลที่ 6 – สื่อสารสันติภาพ (1:58 ชั่วโมง)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล
คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566
ในยุคที่ใคร ๆ ต่างก็เป็นสื่อได้ แต่มิใช่ทุกคนที่จะสามารถเป็นสื่อที่ดีมีความรับผิดชอบต่อการส่งสาร สร้างสื่อ ส่งสู่สังคมได้
บ่อยครั้งที่เราจึงพบสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง แตกแยก บิดเบือน และบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคมมากกว่าที่จะพบสื่อสารดี ๆ ที่ส่งเสริมสันติภาพ ราวกับว่าวาทกรรม “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์” ยังคงเป็นวาทกรรมที่ใช้ได้อยู่ร่ำไป การจะเป็นสื่อที่ดีทำอย่างไร
เราจะรับสื่อ และ ส่งสารอย่างไหวรู้เท่าทันอคติ ความเกลียดชัง และไม่นำไปสู่สงครามหรือสร้างความเกลียดชังต่อกันทำอย่างไรในวันเวลาที่โลกกำลังถูกท้าทายด้วยสถานการณ์อันละเอียดอ่อนไหว ความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย และสังคมไทยที่มีรอยปริร้าวแตกแยกอยู่ทั่วไป
เพื่อนรักต่างศาสนาฯ เชิญชวนทุกท่านที่มีสื่อในมือและอาจจะทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารอยู่ทุกวันผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ท่านมีอยู่มาเรียนรู้ไปด้วยกันกับเราในหัวข้อ “สื่อสารสันติภาพ” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิผู้แปลตำราเล่มสำคัญที่สื่อทุกแขนงควรอ่าน เรื่อง “การสื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้ง” (Conflict Sensitive Journalism) ของปรมาจารย์ด้านการสื่อสารสันติภาพ เขียนโดย โฮเวิร์ด รอสส์ (Howard Ross)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เป็นอาจารย์ผู้สอนและทำวิจัยด้านการสื่อสารท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงถึงตายชายแดนใต้
สื่อมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ไม่ว่าจะทางดีหรือทางร้าย และในยุคที่ทุกคนมีสื่อในมือ เพื่อนรักต่างศาสนาฯ เชิญชวนทุกท่านมาช่วยกันเพิ่มพื้นที่การสื่อสารอย่างไหวรู้เท่าทัน เพื่อสร้างสังคมดี ๆ เพิ่มพื้นที่นักสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ลดพื้นที่สื่อร้าย ๆ ลง